วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จริงหรือไม่? อาหารตกพื้น 5 วินาที เชื้อโรคยังไม่เห็น?


ระหว่างทานอาหาร แล้วคนข้างๆ ทำหมูกระเด็นออกมานอกจาน ด้วยความเสียดายเลยเอาส้อมจิ้มเข้าปาก พร้อมกับบอกว่า “ยังไม่ถึง วินาที เชื้อโรคยังไม่เห็นหรอก” ว่าแล้วก็เคี้ยวตุ้ยๆ กลืนลงคอไปหน้าตาเฉย
จริงๆ แล้วเชื้อโรคที่ว่ามันยังไม่เห็นอาหารของเราจริงหรือ? เชื้อโรคจะยังไม่ทันเกาะอาหารชิ้นนั้นขึ้นมาด้วยจริงหรือไม่?
เชื้อโรคที่อาจพบบนโต๊ะอาหาร บนพื้น
ลองคิดเล่นๆ ว่าบนโต๊ะอาหารที่คุณทานข้าวนั้น ถูกใช้งานอะไรบ้างในแต่ละวัน ก่อนที่คุณจะมานั่งอาจมีคนที่เป็นหวัด ไอค่อกแค่กจามใส่โต๊ะอาหารขณะทานข้าว หรือพนักงานเอาผ้าขี้ริ้วที่เช็ดโต๊ะมาแล้วนับไม่ถ้วนมาเช็ดให้เราอีก โต๊ะไม้ที่เรานั่งอาจมีเชื้อราอยู่ตามซอกไม้ที่แตกหัก หรือถ้าร้ายไปกว่านั้น ตกกลางคืนโต๊ะตัวนี้อาจเป็นทางเดินพาเหรดของสัตว์อย่างหนู และแมลงสาบก็เป็นได้
ถ้าให้พูดถึงเชื้อโรคที่จะพบได้บนโต๊ะอาหาร หรือบนพื้นดิน บอกเลยว่ามีมากมายนับไม่ถ้วน และแต่ละเชื้อก็มีความรุนแรง และความน่ากลัวไม่เท่ากัน ไม่รู้ว่าเราจะไปแจ็คพ็อตเจอตัวไหนเข้า

ซาลโมเนลลา ต้นเหตุของอาการท้องเสีย
เราจะได้ว่าเรามีอาการผิดปกติจากอาหารที่ทานเข้าไปก็ต่อเมื่อเรามีอาการที่ชัดเจนอย่างท้องเสีย อุจจาระร่วง ซึ่งเจ้าเชื้อโรคที่พบกันอยู่บ่อยๆ ตามโต๊ะอาหาร หรือพื้นที่เต็มไปด้วยเศษอาหาร คือเชื้อซาลโมเนลลา เป็นเชื้อโรคที่ทำให้มนุษย์เราต้องเข้าโรงพยาบาลปีละถึง 1.4 ล้านคน
ซาลโนเนลลา พบว่าถูกปนเปื้อนอยู่ในอาหารสารพัด ทั้งไข่ดิบ เนื้อไก่ ผักสดบางชนิด และอาหารอื่นๆ อีกมากมาย ซาลโมเนลลาอาจปนเปื้อนมาตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ขนส่ง มาจนถึงการปรุงอาหาร จนเข้าปากเราได้เลยทีเดียว
อาหารตกโต๊ะ ตกพื้นนานแค่ไหน เชื้อโรคถึงจะเกาะติดอาหารขึ้นมาด้วย?
จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคลมสัน รัฐเซาธ์แคโรไลนา ทำการทดลองว่าอาหารตกพื้นนานเท่าใด เชื้อโรคถึงจะเกาะติดอาหารมาด้วย
ผลสรุปออกมาว่า ไม่ว่าอาหารจะตกบนพื้นที่เป็นพื้นไม้ กระเบื้อง หรือพรม เป็นเวลา 5, 30 หรือ 60 วินาที เชื้อโรคก็เกาะติดอาหารขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อย และมีปริมาณมากพอที่จะทำร้ายร่างกายของเราได้ด้วย
ดังนั้น กฎที่ว่า อาหารตกพื้นไม่เกิน 5 วินาที ยังทานได้ เชื้อโรคไม่เห็น จึงไม่ใช่เรื่องจริงแน่นอน เอาเข้าจริงแล้ว ถึงแม้ว่าจะรีบตักเข้าปากภายใน 3 วินาที ก็ยังติดเชื้อโรคมาด้วยอยู่ดี เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของเรา อย่าเอาแค่ความเสียดายมาทำร้ายร่างกายของตัวเองเลยจะดีกว่าค่ะ เพราะบอกเลยว่ามันไม่คุ้มหรอก
ที่มา:sanook

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จริงหรือไม่? “คอตตอนบัด” ห้ามใช้เช็ดหู?


ทุกคนน่าจะรู้จัก “คอตตอนบัด” กันดีอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะทำมาใช้เช็ดหูกันอยู่เป็นประจำ ยังทำมาทำความสะอาดพื้นที่เล็กๆ แคบๆ ได้อีกมากมาย เช่น ทำความสะอาดแผล ทำความสะอาดสะดือ หรือแม้กระทั่งเช็ดอายไลเนอร์ระหว่างที่คุณผู้หญิงล้างหน้า หรือกำลังแต่งหน้า แต่ที่จริงแล้ว คอตตอนบัด ห้ามนำมาเช็ดหูจริงหรือไม่ เรามีคำตอบค่ะ

“คอตตอนบัด” ห้ามใช้เช็ดหู?
นพ. ภาสกร วันชัยจิรบุญ อายุรแพทย์ กล่าวว่า ปกติแล้ว ทางการแพทย์ “ไม่แนะนำ” ให้ใส่คอตตอนบัท หรือสิ่งใดๆ เข้าไปในรูหู เพราะว่าขี้หู หรือ earwax เป็นเรื่องธรรมชาติที่หูจะผลิตออกมา เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู ดังนั้นวิธีการทำความสะอาดหู เพียงแค่ใช้คอตตอนบัด หรือสำลีอื่นๆ เช็ดบริเวณรอบนอกรูหู หรือปากรูหู เพื่อทำความสะอาดในกรณีที่หูสกปรก หรือขี้หูไหลออกมานอกรูหูเท่านั้น
เพราะหากใช้คอตตอนบัดเข้าไปปั่นในหู อาจจะแคะหูจนเพลิน แรงเกินจนอาจเป็นแผลได้

เว็บไซต์ independent ของประเทศอังกฤษกล่าวว่า Q-Tip หรือคอตตอนบัดที่ผลิตอยู่ในประเทศอังกฤษ มีคำเตือนอยู่ข้างผลิตภัณฑ์เสมอ ว่าห้ามใช้ทำความสะอาดข้างในรูหู แต่คนส่วนมากมักไม่ใส่ใจ และใช้ทำความสะอาดข้างในรูหูกันเรื่อยมา นอกจากนี้ Dennis Fitzgerald แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรค คอ หู จมูก ยังยืนยันอีกว่า พบผู้ป่วยที่มีปัญหากับหู จากการใช้คอตตอนบัดในรูหูอยู่ตลอดเวลา และได้แนะนำให้หยุดใช้ทุกครั้ง

วิธีทำความสะอาดหูที่ถูกต้อง
1. ห้ามแคะ ปั่นหูด้วยคอตตอนบัด หรือนำคอตตอนบัดไปชุบแอลกอฮอล์ น้ำเกลือ หรือของเหลวอื่นๆ แล้วนำมาแคะหูเด็ดขาด เพราะจำให้รูหูแห้งเกินไป และหากของเหลวนั้นไหลลงข้างในชั้นหู อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง อักเสบ จนอาจเป็นโรคหูน้ำหนวกได้
2. ใช้คอตตอนบัด ทำความสะอาดเพียงบริเวณใบหู และบริเวณปากรูหูเท่านั้น หากน้ำเข้าหูทุกครั้งเมื่ออาบน้ำสระผม ให้ใช้สำลีอุดหูก่อนสระผม
3. หากรู้สึกว่าน้ำเข้าหู ให้เอียงหูข้างนั้นลง เขย่าหัวเบาๆ หรือกระโดดเบาๆ ให้น้ำออกมาจากหูเอง หลีกเลี่ยงการใช้คอตตอนบัดเช็ดเข้าไปในรูหู
4. หากรู้สึกหูอื้อ น้ำเข้าหูนานกว่าปกติ รู้สึกว่ามีอะไรเข้าไปในหู หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรไปพบแพทย์ อย่าพยายามเช็ด หรือแคะข้างในหูเอง

หู เป็นอวัยวะที่ซับซ้อน และละเอียดอ่อน เป็นประสาทสัมผัสที่สำคัญไม่น้อยไปว่าการมองเห็น การได้กลิ่น รับรู้รส และการสัมผัส ดังนั้นควรรักษาเอาไว้ให้ดีๆ ไม่ฟังเพลงดังจนเกินไป ทำความสะอาดอย่างระมัดระวัง เท่านี้เราก็มีหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวกับหูไปได้เยอะแล้วล่ะค่ะ
ที่มา:sanook

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ดื่มน้ำเย็นหลังอาหาร เสี่ยงมะเร็ง-ไขมันอุดตัน จริงหรือ?


เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินกันมาบ้างว่าการดื่มน้ำเย็นหลังทานอาหาร ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายๆ อย่าง บ้างก็ว่าอาหารไม่ย่อย หรืออาหารย่อยยาก เสี่ยงไขมันอุดตันเส้นเลือด หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือ ถึงขั้นเสี่ยงโรคมะเร็งกันเลยทีเดียว แล้วอากาศร้อนๆ อย่างบ้านเรา ทานอาหารรสจัดมากๆ เข้า ก็ต้องหิวน้ำกันเป็นธรรมดา อากาศร้อนๆ ก็ต้องน้ำเย็น จะเลี่ยงก็คงยาก มันไม่สดชื่น แล้วนี่สุขภาพเราไม่แย่กันมาหลายปีแล้วเหรอเนี่ย
ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เราไปหาคำตอบมาให้ชัดๆ แล้ว

น้ำเย็น ทำลายสุขภาพ?
การบริโภคน้ำเย็น ถึงแม้ว่าบางครั้งการดื่มน้ำเย็นจัด หรือแม้กระทั่งการทานอาหารเย็นๆ อย่างน้ำแข็ง น้ำแข็งใส ไอศกรีม ฯลฯ จะทำให้เกิดอาการ brain freeze หรืออาการปวดหัวจิ๊ดขึ้นสมอง แต่อาการนี้ไม่ได้เป็นอันตรายอะไรกับสมองจริงๆ หรอกค่ะ เป็นอยู่แปบเดียวก็หายเป็นปกติ

น้ำเย็น ทำให้ไขมันจับตัวแข็งเป็นก้อน?
ทีนี้มาถึงเรื่องของสุขภาพช่องท้องกันบ้าง น้ำเย็นก็ไม่ได้ถึงขั้นทำให้ไขมันในอาหารที่เราทานเข้าไปมันแข็งตัว จนเกาะตามผนังลำไส้ได้หรอกค่ะ เพราะความเย็นของน้ำเย็นไม่ได้เย็นจัดถึงกับทำให้ไขมันจับตัวกันเป็นก้อนได้นานขนาดนั้น อย่างมากก็ทำให้ไขมันในอาหารเป็นไขๆ อยู่ชั่วคราว แต่เมื่อเจอกับความร้อนในอุณหภูมิร่างกายเราตามปกติ มันก็อุ่นเท่ากับอุณหภูมิในร่างกายของเรานั่นแหละ และสุดท้ายร่างกายก็ระบายไขมันออกไปเป็นน้ำมัน
drinking-water-2

น้ำเย็น ทำให้ไขมันเกาะติดผนังลำไส้?
ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสที่มีสิ่งตกค้างไปเกาะตัวอยู่ตามผนังลำไส้ (เขาถึงแนะนำให้ดีท็อกซ์ลำไส้ด้วยการทานผักผลไม้ที่มีกากใยอาหาร เพื่อกวาดเอาสิ่งตกค้างตามลำไส้ออกไปด้วย) แต่น้ำเย็นไม่ได้ทำให้ไขมันแข็งตัว จับตัวกับผนังลำไส้ได้ หรือถึงแม้จะมีไขมันตกค้างอยู่ที่ผนังลำไส้บ้าง ก็ไม่ได้เกาะติดอยู่ไปตลอด เพราะโดยธรรมชาติของลำไส้จะมีการผลัดเซลล์ทุกๆ 3-7 วันอยู่แล้ว ต่อให้มีสารอาหารใดๆ มาเคลือบ ก็หลุดลอกออกมาได้ในเวลาต่อมาอยู่ดี
นอกจากนี้ ยังไม่มีรายงานการแพทย์ที่ระบุว่าพบเจอไขมันเกาะตามผนังลำไส้ในทางเดินอาหารมาก่อน

น้ำเย็น ทำให้ร่างกายไม่ย่อยไขมัน?
อันนี้ก็ไม่เป็นความจริงค่ะ เพราะไขมันจากอาหารจะถูกเอนไซม์มาช่วยย่อยไขมันโดยเฉพาะ ดังนั้นถึงแม้ว่าเราจะดื่มน้ำเย็น ร่างกายของเราก็ยังย่อยไขมันได้อยู่ดี

ดังนั้นเรายังสามารถดื่มน้ำเย็นได้ ไม่ได้มีโทษต่อสุขภาพใดๆ แต่ควรดื่มเฉพาะช่วงที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีเท่านั้น เพราะหากอยู่ในช่วงภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่สบาย มีไข้ เจ็บคอ ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อรักษาสุขภาพช่องคอ และรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้อบอุ่น เพื่อที่จะไม่เป็นอาการหนักกว่าเดิมค่ะ
ที่มา:sanook

วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จริงหรือมั่ว? แว๊กซ์ในถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อันตรายต่อร่างกาย


หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องบรรจุภัณฑ์ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วย โดยเฉพาะถ้วยกระดาษ ที่มีการเคลือบแว็กซ์ หรือขี้ผึ้งเอาไว้กันรั่วซึม แต่หากเราทานเจ้าขี้ผึ้งนี้เข้าไปในร่างกายนานๆ อาจเข้าไปเคลือบกระเพาะอาหารของเรา และทำอันตรายต่อสุขภาพของเราได้นั้น ความจริงเป็นเช่นไร  มีคำตอบมายืนยันค่ะ

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วย มีขี้ผึ้งเคลือบอยู่ด้านในหรือไม่?
ก่อนที่จะไปถึงคำตอบที่ว่า ขี้ผึ้งเป็นอันตรายต่อร่างกายของเราหรือไม่นั้น ต้องดูก่อนว่าในบรรจุภัณฑ์อาหารที่เราทาน มีขี้ผึ้งเคลือบอยู่ด้านในจริงหรือไม่ ทั้งนี้คำตอบของเจ้าของผลิตภัณฑ์กล่าวไว้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของว่า ถ้วยของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นถ้วยกระดาษลามิเนตพลาสติกชนิด PE Food Grade (Polyethylene) ไม่มีการเคลือบแว๊กซ์ หรือขี้ผึ้งแต่อย่างใด ส่วนที่เห็นลื่นๆ ด้านในถ้วย เป็นพลาสติกชนิดทนร้อน ที่ใส่ไว้ด้านในของถ้วยเพื่อทำให้ถ้วยคงรูป และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าใช้กับอาหารได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังสามารถนำเข้าเตาไมโครเวฟได้อีกด้วย

ชนิดของภาชนะสำหรับบรรจุบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วย
โดยทั่วไปแล้ว ชนิดของภาชนะสำหรับบรรจุบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วยมีด้วยกัน 3 แบบ คือ
1. ถ้วยพลาสติก PP (Polypropylene) ขึ้นรูปโดยการหลอมเม็ดพลาสติก PP Food Grade แล้วยิงขึ้นรูปถ้วย  พลาสติกประเภทนี้สามารถใช้กับผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดนการเติมน้ำร้อนหรือน้ำธรรมดาและเข้าไมโครเวฟก็ได้  ถ้วยพลาสติกมีความแข็งแรงง  ป้องกันความชื้นและกลิ่นได้ดี

2. ถ้วยโฟม PS (Polystyrene)  ขึ้นรูปโดยการหลอมพลาสติก PS แล้วขึ้นรูปถ้วย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเม็ดโฟมเล็กๆ เกาะกันแน่น มีข้อดีคือ เป็น ฉนวนความร้อน  เมื่อชงน้ำร้อนในบะหมี่แล้ว  บะหมี่จะร้อนนาน ผู้ถือถ้วยจะไม่รู้สึกร้อน อย่างไรก็ตามถ้วยโฟมไม่สามารถทนความร้อนระดับ 100 องศาเซลเซียสได้ จึงไม่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ ยังมีข้อเสียของบรรจุภัณฑ์โฟมอีกหลายประการ คือ เป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยวิธีทางชีวภาพโดยจุลินทรีย์  ยังไม่มีวิธีรีไซเคิลที่เหมาะสม  (นักวิชาการประเมินว่าต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย) นอกจากนี้ถ้วยโฟมพิมพ์สีภายนอกได้ไม่สวยงาม จึงต้องอาศัยการหุ้มด้วยพลาสติกอีกชั้นหนึ่งเพื่อเป็นพื้นที่ฉลากอาหาร

3. ถ้วยกระดาษลามิเนตพลาสติกชนิด PE (Polyethylene)  ขึ้นรูปโดยการพ่นพลาสติก PE Food Grade เป็นฟิลม์เคลือบบนผิวกระดาษด้านในของถ้วย  ถ้วยชนิดนี้เมื่อเติมน้ำร้อนยังสามารถถือถ้วยได้โดยไม่ร้อนมือ เพราะถ้วยออกแบบให้ปลอกกระดาษชั้นนอกที่พิมพ์ฉลากสวมทับไว้ ทำให้เป็นฉนวนอากาศป้องกันไม่ให้ความร้อนในถ้วยออกไปสู่ภายนอก สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้  และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะใช้เวลาย่อยสลายน้อยกว่าถ้วยชนิดอื่น อย่างไรก็ตามถ้วยอาจอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากไอน้ำ จึงควรถือถ้วยอย่างระมัดระวัง

ขี้ผึ้ง เป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหารได้หรือไม่?
หากรับประทานอาหารอื่นๆ ที่บรรจุภัณฑ์มีการเคลือบขี้ผึ้งอยู่จริงๆ อยากแจ้งให้ทราบว่า ขี้ผึ้งมีชนิดที่สามารถรับประทานได้อยู่ด้วย เช่น ขี้ผึ้งที่ใช้ในการเคลือบผักและผลไม้ เพื่อยืดระยะเวลาการเก็บรักษาให้ยาวนาน ป้องกันโรคราและแมลง รักษาน้ำหนัก รสชาติ และการสูญเสียวิตามิน ดังนั้นหากเลือกรับประทานจากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตอย่างถูกต้อง ก็ขอให้มั่นใจได้ว่าเป็นขี้ผึ้งที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างที่กลัวกัน

รู้อย่างนี้แล้ว ก็ทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันอย่างสบายใจได้เลยนะคะ แต่ถ้าจะให้ดีอย่าทานติดต่อกันเป็นประจำจะดีกว่า เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และหากต้องทานจริงๆ ควรเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้วยการเติมผัก เนื้อสัตว์ ไข่ และอื่นๆ ได้ตามใจชอบค่ะ
ที่มา:sanook

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

5 ข้อห้ามทำ ถ้าไม่อยากให้ “อวัยวะเพศ” ติดเชื้อ


ถ้าเป็นเรื่องของอวัยวะเพศแล้ว ไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็มีความกระดากปาก และลำบากใจที่พูดถึง หรือปรึกษาคนอื่นเมื่อมีปัญหา ดังนั้นเมื่อมีอาการแปลกๆ เช่นอาการ “ติดเชื้อ” ขึ้นมา หลายคนจึงทนบ้าง หาทางรักษาเองแบบผิดๆ ถูกๆ บ้าง จนในที่สุดอาจส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าเดิม ดังนั้นทางแก้ก็คือ ดูแลอวัยวะเพศของเราให้ดี อย่าให้เสี่ยงติดเชื้อตั้งแต่เริ่มแรกนั่นเอง 
5 ข้อห้ามทำ ถ้าไม่อยากให้ “อวัยวะเพศ” ติดเชื้อ
  1. ห้ามใส่กางเกงในซ้ำ
บริเวณอวัยวะเพศมีต่อมเหงื่อเหมือนกับบริเวณอื่นๆ ที่มีรูขุมขน แถมยังเป็นจุดอับชื้นเพราะถูกปิดบังด้วยเสื้อผ้า และท่านั่งท่าเดิน การหมักหมมของเหงื่อทำให้เป็นปัจจัยในการเกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ และแบคทีเรียก็สามารถเติบโตได้ดี ดังนั้นเราจึงควรเปลี่ยนชั้นในทุกวันเพื่อสุขภาพอนามัยในจุดซ่อนเร้นที่ดี ควรเปลี่ยนชุดชั้นในอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ ในตอนเช้า และก่อนเข้านอน และรีบทำความสะอาดทันทีที่ทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก เช่น ออกกำลังกาย เป็นต้น

  1. ห้ามล้างช่องคลอดด้านใน
ผู้หญิงบางคนอยากให้สะอาดเข้าไปถึงข้างใน จึงพยายามสอดนิ้วเข้าไปล้างด้วยสบู่ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ ตามท้องตลาด แต่ที่จริงแล้วการทำความสะอาดเข้าไปถึงภายในส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี เพราะสบู่มีค่า pH ที่สูงกว่าช่องคลอด และมีส่วนผสมของน้ำหอม จึงอาจเป็นสาเหตุของผื่นแดง และอาการคัน นอกจากนี้ยังเป็นการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ดีต่อร่างกายไปโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ดังนั้นถ้าอยากทำความสะอาด ควรเลือกเพียงน้ำเปล่า หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเฉพาะจุดซ่อนเร้นโดยตรง และทำความสะอาดเพียงภายนอกเท่านั้น ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง
  1. ห้ามทาน้ำมัน หรือปิโตรเลียมเจลต่างๆ
บางครั้งเพื่อความสะดวกในการมีกิจกรรมรักด้วยกัน อาจมีการใช้ตัวช่วยที่ให้ช่องคลอดมีน้ำหล่อลื่น เช่น เบบี้ออยล์ หรือปิโตรเลียมเจล แม้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะปลอดภัยเมื่อใช้กับผิวหนังด้านนอกตามปกติ แต่ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้กับจุดซ่อนเร้น เพราะหลังจากใช้แล้วทำให้ล้างทำความสะอาดลำบาก และหากเกิดคราบเหนียวตกค้างก็อาจเป็นตัวดักเชื้อโรค และเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ให้มาสะสมกันได้ ดังนั้นหากอยากให้อวัยวะเพศมีความลื่นขณะทำกิจกรรมรัก ควรใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อจุดซ่อนเร้นโดยเฉพาะเท่านั้น

  1. ห้ามเจาะ หรือสัก
เมื่ออวัยวะเพศเป็นจุดซ่อนเร้นที่บอบบาง อับชื้น หมักหมมต่อเหงื่อไคล และติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นการเจาะ หรือสักที่ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเป็นรอยแผล จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายๆ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำไม่ให้เจาะ หรือสักบริเวณดังกล่าว หากเจาะไปแล้วควรถอดจิว หรืออุปกรณ์ต่างๆ ออกเพื่อให้ผิวหนังกลับคืนสูสภาพเดิม แต่หากสักแล้วก็ไม่ต้องพยายามลบรอยสักแต่อย่างใด

  1. ห้ามสอดใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปข้างใน
ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ก็ไม่ควรสอดใส่เข้าไปในช่องคลอด เพราะมีความเสี่ยงที่สิ่งของเหล่านั้นจะสารอันตรายที่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง เศษดิน หรือฝุ่นละอองต่างๆ หรือแม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับส่วนนั้นโดยเฉพาะ (เซ็กส์ทอย) ก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ถ้าไม่ได้รับการทำความสะอาดมากเพียงพอ
ที่มา:sanook