วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

วิธีปฐมพยาบาล สิ่งแปลกปลอมติดคอ-อุดกั้นทางเดินหายใจ

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่มีผลไม้หลายชนิด อาทิ เงาะ ลำไย กระท้อน แตงโม น้อยหน่า ละมุด ลองกอง มังคุด ลางสาด มะขาม เป็นต้น หลายชนิดมีเมล็ดที่อาจหลุดเข้าทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะในเด็ก


อันตรายจากสิ่งแปลกปลอมติดในลำคอ

หากเมล็ดผลไม้มีขนาดใหญ่มักติดค้างที่กล่องเสียงซึ่งเป็นตำแหน่งแคบที่สุดของทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอุดกั้นอย่างสมบูรณ์และเฉียบพลัน หากช่วยเหลือไม่ทันอาจเสี่ยงเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที นอกจากนี้ กรณีที่สิ่งของที่อุดกั้นทางเดินหายใจมีขนาดเล็ก อาการอาจไม่ชัดเจน และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ หอบหืด ตามมาหลังสำลัก นานเป็นวันถึงสัปดาห์ได้


อาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมติดคอ

คนที่มีสิ่งแปลกปลอมติดคอ อาจทำให้พูดไม่ได้ไปชั่วขณะ จึงอาจสื่อสารกับคนรอบตัวลำบาก ดังนั้นเราจึงควรสังเกตอาการของเขาจากอากัปกิริยาที่เขาแสดงออกในขณะนั้น
  • สำลัก ไออย่างรุนแรง
  • เอามือจับบริเวณคอ
  • พูดไม่ได้
  • หายใจหอบ
  • หายใจไม่ออก
  • ริมฝีปากเขียวคล้ำ
หากพบว่ามีคนที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบโทรสายด่วน 1669


วิธีปฐมพยายาม ช่วยเหลือผู้ป่วยสิ่งแปลกปลอมติดคอเบื้องต้น

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมติดคอ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างทันท่วงที เราสามารถให้ความช่วยเหลือได้ ดังนี้
  1. หากผู้ป่วยเป็นเด็ก ห้ามใช้นิ้วมือล้วงช่องปากหรือจับเด็กห้อยศีรษะ และตบหลังเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เศษอาหารหรือสิ่งของตกมาอุดที่กล่องเสียงจนขาดอากาศหายใจได้
  2. หากเด็กยังรู้สึกตัว ให้พยายามไอแรงๆ จนสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา
  3. หากยังไม่ดีขึ้น ให้ยืนด้านหลังของเด็กแล้วสอดแขนทั้งสองข้างไว้ใต้แขนของผู้ป่วย กำมือข้างที่ถนัดกดตรงกลางท้องบริเวณกึ่งกลางระหว่างกระดูกลิ้นปี่กับสะดือ แล้วใช้มืออีกข้างจับไว้ให้แน่น จากนั้นออกแรงกระตุกเข้าหาตัว พร้อมๆ กับดันขึ้นด้านบน เพื่อให้เกิดแรงดันในช่องท้องดันเข้าใต้กะบังลมผ่านไปยังช่องทรวงอก ดันสิ่งแปลกปลอมให้หลุดออกจากกล่องเสียง ทำเป็นจังหวะสม่ำเสมอ จนกว่าจะเริ่มสำลักหรือไอจนสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หรือจนกว่าเด็กจะหายใจเองได้
  4. จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือให้นอนตะแคงรอทีมปฏิบัติการทางการแพทย์  
  5. สำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ให้จับนอนคว่ำและตบหลังบริเวณระหว่างกระดูกสะบักจนสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา และพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน


วิธีป้องกันสิ่งแปลกปลอมติดคอ

  1. ควรระมัดระวังบุตรหลานที่เป็นเด็กเล็กไม่ให้รับประทานผลไม้ที่มีเมล็ดตามลำพัง
  2. แกะเมล็ดผลไม้ออกก่อนให้เด็กรับประทานทุกครั้ง
  3. ไม่ป้อนอาหารขณะเด็กกำลังวิ่งเล่น
  4. สอนเด็กให้เคี้ยวอาหารช้าๆ ให้ละเอียดก่อนกลืน
  5. หากเป็นตัวเอง พยายามแกะเมล็ดผลไม้ออกก่อนรับประทานเช่นกัน ไม่ควรพยายามเอาลิ้นดุนเมล็ดเอง
  6. หากเป็นผลไม้ที่เอาเมล็ดออกยาก ต้องใช้ความระมัดระวังในการรับประทาน ไม่คุยไปรับประทานไป หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างรับประทาน เพราะอาจเสี่ยงเมล็ดลื่นลงคอได้
  7. หากมีอาหารติดคอ ควรขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างโดยเร็วที่สุด หรือพยายามไอออกมาแรงๆ เพื่อพยายามให้เศษอาหารหลุด
ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น