วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

6 วิธี ลดอาการ "ปวดท้องประจำเดือน"

 คุณผู้หญิงหลายคนที่มีอาการปวดท้องในช่วงมีประจำเดือน จะทราบดีถึงความทรมานที่เกิดขึ้น บางรายปวดหนักมากจนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่สำหรับใครที่ปวดท้องบ่อยๆ แต่แพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ อาจลองทำตามเคล็ดลับที่  มีข้อมูลจากโรงพยาบาลพญาไทมาฝากกัน


อาการปวดท้องประจำเดือน เกิดจากสาเหตุใด?


อาการปวดท้องประจำเดือน เกิดจากการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้มดลูกเกิดการบีบและคลายตัวเป็นจังหวะ ทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกปวดท้องในช่วงเริ่มมีประจำเดือน


6 วิธี ลดอาการปวดท้องประจำเดือน


กินอาหารกลุ่มแมกนีเซียม

อาการกลุ่มที่มีแมกนีเซียม เช่น ผักโขม ผักปวยเล้ง ตำลึง และกล้วย โดยข้อมูลจาก สสส. ระบุว่า แมกนีเซียมช่วยป้องกันการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกปวดท้องช่วงเป็นประจำเดือนนั่นเอง


นวดท้องน้อยเบาๆ

การนวดที่ท้องน้อยเบาๆ โดยการนวดเป็นวงกลม ให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย จะช่วยลดอาการปวดท้องได้


ประคบด้วยกระเป๋าร้อน

ความร้อนก็ช่วยคลายกล้ามเนื้อได้เหมือนกัน สาวๆ ที่ปวดท้องบ่อยๆ ลองมีกระเป๋าน้ำร้อนติดตัวติดบ้าน หรือที่ออฟฟิศเอาไว้บ้าง ปวดเมื่อไรหยิบมาประคบที่ท้องเมื่อนั้น


จิบเครื่องดื่มอุ่นๆ

การทำให้ท้องอุ่นขึ้น ไม่ได้มีแค่การให้ความสัมผัสกับผิวหนังด้านนอกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทำให้อุ่นจากภายใน นั่นคือการดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ เช่น น้ำอุ่น นมอุ่นๆ หรือถ้ามื้ออาหารอาจเป็นน้ำซุบใสอุ่นๆ เพื่อช่วยให้ท้องอุ่นขึ้นได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงชา และกาแฟ เพราะคาเฟอีนที่อยู่ในชาและกาแฟ อาจกระตุ้นให้อาการปวดท้องประจำเดือนแย่ลงได้


ออกกำลังกายเบาๆ

เชื่อหรือไม่ว่าการออกกำลังกายช่วยให้อาการปวดท้องประจำเดือนทุเลาลงได้ หากอยู่ในระหว่างที่ร่างกายไม่ได้ปวดท้องมากๆ อยู่ ลองหาเวลาออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดินเร็ว หรือเล่นโยคะท่าง่ายๆ ก็ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และลดอาการปวดท้องประจำเดือนที่อาจเกิดขึ้นได้อนาคตได้


ฝังเข็มระงับปวด

หากทุกข้อที่กล่าวมาไม่สามารถบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนให้ลดน้อยลงเลย อาจลองปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาวิธีการฝังเข็มเพื่อลดอาการปวดโดยเฉพาะได้ เป็นเทคนิคทางการแพทย์แผนจีนที่รับรองว่าปลอดภัยและได้ผล


อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องประจำเดือนอาจมีสาเหตุอื่น หากมีอาการปวดมากและไม่มีวิธีไหนที่ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยละเอียด

ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น