วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563

โควิด-19: “กระดาษทิชชู่” ควรนำมาทำเป็น “หน้ากากอนามัย” หรือไม่?

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ออกมาให้ความคิดเห็นในกรณีที่มีการใช้กระดาษทิชชู่ทำหน้ากากอนามัยใช้เอง


“กระดาษทิชชู่” ควรนำมาทำเป็น “หน้ากากอนามัย” หรือไม่?

ดร.ภูวดี ตู้จินดา หัวหน้ากลุ่มวัสดุธรรมชาติและเส้นใย และโฆษกกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เนื่องจากลักษณะของกระดาษนั้นเกิดการประสานกันของเส้นใยเซลลูโลส ซึ่งก็จะมีช่องว่างอุดด้วยสารเติมแต่ง (filler) เพื่อเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ อีกทั้งกระดาษอเนกประสงค์และกระดาษทิชชู่ยังมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำด้วย ซึ่งเมื่อมีละอองเข้ามาเกาะจะถูกดูดซึมเข้าไปอยู่ในเนื้อกระดาษ โดยความสามารถในการดูดซึมขึ้นอยู่กับกระดาษอเนกประสงค์หรือกระดาษทิชชู่ที่นำมาใช้
นอกจากนี้กระดาษอเนกประสงค์และกระดาษทิชชู่บางเกรดมีการเติมสารฟอกนวลเพื่อช่วยให้สีดูขาวขึ้น หากใส่เป็นหน้ากาก มีความอับชื้นเป็นเวลานาน บางคนอาจแพ้และเกิดการระคายเคือง และเส้นใยอาจหลุดจากพื้นผิวเมื่อถูกเสียดสีขุยกระดาษที่สูดเข้าปอดไปก็อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นหน่วยงานให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ วิจัย และให้คำปรึกษาด้านเยื่อและกระดาษแก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป โดยผลิตภัณฑ์ประเภทกระดาษทิชชู่ ประกอบด้วย กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดมือ กระดาษเช็ดปาก และกระดาษอเนกประสงค์ สามารถทดสอบได้ทุกรายการ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำหนด


หน้ากากผ้า ทางออกเมื่อหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งขาดแคลน

นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์หน้ากากอนามัยขาดแคลน ยืนยันว่า หน้ากากผ้าถือเป็นทางเลือกของผู้ที่ไม่ป่วยได้ โดยประชาชนสามารถทำหน้ากากผ้าเองได้ ด้วยการใช้ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ และผ้าสาลู ซึ่งแม้ว่าจะช่วยได้ไม่ 100% แต่รองรับได้ 54-59%
ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น