วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565

กินอาหารใส่กัญชา ประสาทหลอนได้หรือไม่

 สูบกัญชาอาจประสาทหลอนได้ แล้วกินอาหารที่ใส่กัญชาล่ะ


ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า กัญชามีสารสำคัญตัวหนึ่งคือ ทีเอชซี ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกายอารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ทีเอชซีจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้ อารมณ์ดี หัวเราะและหัวใจเต้นเร็ว ต่อมาจะกดประสาททำให้ผู้เสพมีอาการมึนงง เซื่องซึมและง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากๆ จะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้


กินอาหารใส่กัญชา ประสาทหลอนได้หรือไม่


ในกรณีสูบกัญชาจะเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วภายใน 2-3 นาที และจะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้สูงสุดถึง 1 ชั่วโมง แต่การรับประทานใช้เวลาในการออกฤทธิ์นานราวหนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่า และจะถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และถูกขับออกทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ ในกรณีไม่เคยเสพกัญชา จะอยู่ในร่างกายได้นาน 2-5 วัน


การรับประทานอาหารที่ผสมกัญชา ออกฤทธิ์ได้เช่นเดียวกับการเสพ แต่ช้ากว่า จึงพบอาการข้างเคียงจากการใช้กัญชาในปริมาณเกินขนาดจนเกิดอันตรายได้ แต่อย่างไรก็ตาม การออกฤทธิ์จะขึ้นกับชนิด ปริมาณของสารสำคัญ และการตอบสนองที่แตกต่างกันในแต่ละคน


การผสมกัญชาในอาหารส่วนใหญ่จะมีสี กลิ่น และรสที่น่ารับประทาน จะไม่สามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอกว่ามีกัญชาผสมหรือไม่ แต่อาจสังเกตที่สัญลักษณ์บนฉลากจะมีคำว่า cannabis, THC, CBD หรือ Hemp


กัญชา ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างไรบ้าง


การได้รับสาร THC จากกัญชาเข้าสู่ร่างกายสามารถเกิดผลต่อระบบจิตประสาท โดยสาร THC 2-5 mg เทียบเท่ากับกัญชา 6 ใบ


  • อาการกดประสาท

ปริมาณสาร THC ราว 2-5 mg อาจทำให้ง่วง อยากนอน ไม่มีแรงจูงใจทำอะไร


ปริมาณสาร THC 5 mg ขึ้นไป อาจทำให้หลับลึกไม่ค่อยรู้ตัว


 

  • อาการกระตุ้นประสาท

ปริมาณสาร THC ราว 2-5 mg อาจทำให้กระสับกระส่าย กลัว ตื่นตระหนก


ปริมาณสาร THC 5 mg ขึ้นไป อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วมาก อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมาก


 

  • อาการหลอนประสาท

 ปริมาณสาร THC ราว 2-5 mg อาจทำให้วิตกกังวล กลัว ไม่ออกไปไหน


ปริมาณสาร THC 5 mg ขึ้นไป อาจปรากฏอาการยิ้ม พูดคนเดียว หูแว่ว ระแวง


อาการทางจิตประสาทอาจขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและการตอบสนองของแต่ละบุคคล


ปริมาณกัญชาที่กินได้ปลอดภัย


จริงๆ แล้ว ความปลอดภัยในการกินกัญชา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณกัญชาที่ใส่ลงไปในอาหารแต่เพียงอย่างเดียว หากผู้ที่กินอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอันตราย รวมไปถึงมีอาการแพ้กัญชา ก็อาจเกิดอันตรายได้แม้จะกินไม่เยอะ


อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทั่วไป ปริมาณที่เหมาะสมที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กำหนด คือ 1  ใบในอาหารประเภทต้ม ผัด แกง และผสมเครื่องดื่มไม่เกิน 200 มิลลิลิตร ส่วนอาหารทอดใช้ได้ 1-2 ใบ


และอย่าลืมว่า แม้ว่าในไทยจะสามารถนำกัญชามาผสมในอาหารทั้งทำกินเองที่บ้านและทำขายได้แล้ว แต่ปริมาณที่เหมาะสมในการใส่ลงไปในอาหารยังไม่มีการกำหนดและบังคับใช้ชัดเจน ผู้ผลิต คนปรุงอาหาร เจ้าของร้านอาหาร รวมถึงสมาชิกในครอบครัวที่ทำอาหารกินเอง ควรระมัดระวังในการใส่กัญชาลงไปในอาหารให้มากๆ เพราะอาจเกิดอาการแพ้หรืออาการอื่นๆ กับผู้ที่กินได้


Cr.sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น