วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

10 ปัจจัยเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน


หูเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่สำคัญไม่ควรมองข้าม เพราะทำให้เราได้ยินและสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ บางคนอาจเคยประสบปัญหากับอาการหูอื้อ หูตึง หรือหูดับเฉียบพลัน ซึ่งอาจมีการสูญเสียการได้ยินเพียงชั่วคราวแล้วก็หาย แต่บางคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อม หรือมีอาชีพเสี่ยงที่ต้องได้ยินเสียงดังเป็นเวลานานๆ การสูญเสียการได้ยินในลักษณะนี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป การได้ยินจะค่อยๆแย่ลงโดยไม่รู้ตัว 

กฎหมายจึงกำหนดว่าที่ทำงานต้องมีการจัดทำแผนโครงการอนุรักษ์การได้ยิน ไม่เพียงแต่เสียง  ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องอื่นๆ อีก คือ
  1. การแคะหู ทำให้มีขี้หูอุดตัน ช่องหูอักเสบติดเชื้อ เสี่ยงต่อเยื่อแก้วหูทะลุ ทำให้สูญเสียการได้ยินได้ ความจริงแล้วเราไม่ควรแคะหูเพราะขี้หูถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยป้องกันผิวหนังของรูหูจากสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ เหงื่อ รวมไปถึงเชื้อโรค ฝุ่นละออง ปกติขี้หูที่สะสมอยู่จะแห้งหลุดออกมาได้เองจึงไม่จำเป็นต้องปั่นหรือแคะ  การทำความสะอาดหูให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำ บิดพอหมาดเช็ดบริเวณใบหูและรูหูเท่าที่นิ้วจะเช็ดเข้าไปได้เท่านั้น
  2. การเป็นหวัดทำให้ท่อปรับความดันที่ต่ออยู่ระหว่างช่องคอกับหูชั้นกลางบวม ความดันในหูชั้นกลางผิดปกติ ไม่สามารถปรับความดันให้เท่ากับบรรยากาศภายนอกได้ คนไข้จะรู้สึกหูอื้อหรือปวดหู
  3. การสั่งน้ำมูกแรงๆ ทำให้มีของเหลว น้ำมูกย้อนไปขังในหูชั้นกลาง หากของเหลวนั้นไม่สามารถระบายออกมาได้มักทำให้มีการอักเสบของหูชั้นกลาง คนไข้มักมีอาการหูอื้อหรือปวดหู
  4. การได้รับเสียงดังมากๆ เช่น เสียงระเบิด เสียงประทัด อาจทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาด กระดูกหูหลุดหรือประสาทหูเสื่อมได้
  5. การฟังเสียงดัง เช่น การฟังเพลงในที่ที่มีเสียงรบกวน เราจะเพิ่มความดังเสียงโดยไม่รู้ตัว หรือการที่ต้องทำงานสัมผัสเสียงดังๆ เช่น เสียงเครื่องจักร และไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง มักทำให้ประสาทหูชั้นในเสื่อมได้
  6. ประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลัน คนไข้มักมีอาการหูดับแบบเฉียบพลันหรือรู้สึกว่าการได้ยินลดลงแบบเฉียบพลัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ
  7. โรคหูน้ำหนวก คือ โรคที่มีการอักเสบของหูชั้นกลางแบบเรื้อรัง มีเยื่อแก้วหูทะลุและอาจมีน้ำหรือหนองไหลออกจากหู อาการมักเป็นๆหายๆ ระยะเวลามากกว่า 3 เดือน
  8. โรคหินปูนเกาะที่กระดูกหูชั้นกลาง เกิดจากหินปูนที่เจริญผิดปกติในหูชั้นกลาง เกาะระหว่างฐานของกระดูกโกลนกับช่องรูปไข่ ซึ่งเป็นช่องทางติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน ทำให้เสียงไม่สามารถผ่านจากหูชั้นกลาง เข้าไปในหูชั้นในได้ตามปกติ ทำให้หูอื้อหรือหูตึง นอกจากนั้นอาจเกิดหินปูนเจริญผิดที่ในหูชั้นใน หรือหินปูนที่ผิดปกติในหูชั้นกลางปล่อยเอนไซม์บางชนิดเข้าไปในหูชั้นใน ทำให้มีเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะบ้านหมุนได้
  9. โรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไต ไขมันในเลือดสูง ทำให้ประสาทหูชั้นในเสื่อม
  10. เนื้องอกที่เส้นประสาทการได้ยิน มักมีการสูญเสียการได้ยินข้างเดียว โดยที่ความแตกต่างของระดับการได้ยินของหูทั้ง 2 ข้างมักต่างกันเกิน 40 เดซิเบลขึ้นไป คนไข้มักบอกว่าได้ยินเสียงแต่ไม่สามารถแปลความหมายจากสิ่งที่ฟังได้ (ได้ยินแต่ไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร) บางคนอาจมีอาการเดินเซ เวียนศีรษะบ้านหมุนร่วมด้วย
ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น